Bilberry (บิลเบอร์รี่)
บิลเบอร์รี่ เป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ที่หลายคนรู้จัก พบมากในประเทศแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ ชอบขึ้นตามป่า เขา และทุ่งโล่งแถบยุโรป เช่น ฟินแลนด์ เยอรมัน อิตาลี ผลบิลเบอร์รี่ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีปริมาณ Anthocyanins (แอนโทไซยานิน) สูง ซึ่งอยู่ในรูป Anthocyanosides (แอนโทไซยาโนไซด์) Anthocyanins (แอนโทไซยานิน) จัดเป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่มีสีม่วง น้ำเงินเข้ม มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น หรือที่เราเรียกคุ้นหูว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระนั่นเอง
ประวัติการใช้ประโยชน์
มีการใช้ประโยชน์จากผลและใบของบิลเบอร์รี่ มาตั้งแต่ ศตวรรษที่16 เพื่อช่วยป้องกันหรือบำบัดโรคหรืออาการผิดปกติของร่างกาย ได้แก่นิ่วในไต, ภาวะผิดปกติของถุงน้ำดี, เลือดออกตามไรฟัน การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ไอ วัณโรคปอด ต่อมา มีการใช้บิลเบอร์รี่ในรูปแบบสารสกัดจากผลบิลเบอร์รี่ เนื่องจากมีสารสำคัญ คือ Anthocyanins (แอนโทไซยานิน) สูง พบว่าสามารถป้องกันหรือบำบัดอาการผิดปกติของดวงตา หลอดเลือด และเบาหวาน ปัจจุบันนิยมการใช้ผลบิลเบอร์รี่ที่เตรียมเป็นสารสกัดน้ำ โดยควบคุมมาตรฐานให้มีปริมาณแอนโทไซยาโนไซด์ ร้อยละ 25
ประโยชน์ต่อดวงตาในทางคลินิก
บิลเบอร์รี่ มีสารแอนโทไซยาโนไซด์ ซึ่งสามารถทำให้ออกซิเจนและเลือดไปเลี้ยงดวงตาเพิ่มขึ้น และสามารถจับกับอนุมูลอิสระที่จะทำลายคอลลาเจน ทำให้คอลลาเจนคงตัว และคอลลาเจนมีปริมาณเพิ่มขึ้น ช่วยให้ผนังหลอดเลือดฝอยดวงตาแข็งแรง นอกจากนี้ยังช่วยปกป้องรงควัตถุของจอตา ทำให้สามารถรับภาพและปรับภาพได้ดี ทั้งในที่สว่างและที่มืด การใช้สารสกัดจากบิลเบอร์รี่ ซึ่งมีปริมาณของแอนโทไซยาโนไซด์สูง สามารถป้องกันและชะลอการเกิดต้อหิน ซึ่งเป็นโรคตาที่มักพบในอายุมากกว่า 40 ปี
สารสกัดของผลบิลเบอร์รี่ ที่มีแอนโทไซยานินสูง (สารสกัดมาตรฐานมีปริมาณแอนโทไซยาโนไซด์ร้อยละ 25) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและปกป้องเซลล์ โดยทดสอบกับเซลล์เยื่อบุตา (retinal pigment epithilial cell) พบว่าแอนโทไซยานินและสารอื่นจากบิลเบอร์รี่กระตุ้นสัญญาณผ่านยีนส์ที่ควบคุมหรือมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น จึงป้องกันการเกิดออกซิเดชั่น จากเซลล์เยื่อบุจอตา
ปริมาณที่แนะนำต่อวัน
สารสกัดน้ำของบิลเบอร์รี่มาตรฐานซึ่งมีแอนโทไซยาโนไซด์ร้อยละ 25 ใช้ขนาด 80 -160 มิลลิกรัมวันละ 1- 3 ครั้ง
อาการข้างเคียง
- การใช้ในขนาดที่กำหนด ไม่พบผลข้างเคียงใดๆ
- ทานท้องว่างหรือพร้อมอาหารได้
References (เอกสารอ้างอิง)
1. อโนชา อุทัยพัฒน์.(2551).บิลเบอร์รี่.จุลสารข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับที่26(1). หน้า 1-11.
2. https://www.drugs.com/npp/bilberry.html
เรียบเรียงบทความโดย ภก.วรเดช สุขเดโชสว่าง
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง