กระดูกพรุน หรือไม่?

กระดูกพรุน หรือไม่

กระดูกพรุน หรือไม่?

กระดูกพรุน สามารถดูได้จาก ความหนาแน่นของมวลกระดูก

ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี จำนวนครึ่งหนึ่งมีความเสี่ยงที่จะกระดูกหัก จากความหนาแน่นของกระดูกที่น้อย

ในกระดูกมีแคลเซียม เป็นแร่ธาตุสำคัญที่ทำให้กระดูกแข็งแรง ถ้าปริมาณแคลเซียมในกระดูกลดลง ส่งผลให้ความหนาแน่นของกระดูก หรือมวลกระดูกลดลง เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกหักง่าย และนำไปสู่กระดูกพรุนในที่สุด

National Institute of Health (NIH) ได้นิยาม โรคกระดูกพรุน ดังนี้ คือ

“เป็นโรคของกระดูกที่มีความแข็งแกร่งของกระดูก (Bone strength) ลดลง ส่งผลให้เพิ่มความ เสี่ยงต่อกระดูกหัก” ความแข็งแกร่งของกระดูกในนิยามนี้ ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือความหนาแน่นของกระดูก(Bone density) 70% และคุณภาพของกระดูก (Bone quality) 30%

ในปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใด ที่จะสามารถนำมาประเมินคุณภาพกระดูกได้อย่างถูกต้องแม่นยำและนำไปใช้ในทางคลินิกได้ องค์การอนามัยโลก ได้กําหนดเกณฑ์มาตรฐานในการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) โดยดูค่าความหนาแน่นของมวลกระดูก

การตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone densitometry) กับการตรวจความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูก (Bone mineral density test) คือการตรวจที่เหมือนกัน เพียงแต่เรียกชื่อต่างกัน ได้ผลออกมาเป็นความหนาแน่นของกระดูกเหมือนกัน ทำให้ทราบว่าสุขภาพกระดูกเป็นอย่างไร กระดูกพรุนหรือไม่

การตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone densitometry)

วิธี DXA scan จะใช้หลักการทำงานของรังสี X-ray ที่ดัดแปลงให้รังสีนั้นสามารถซึมผ่านทะลุถึงเนื้อเยื่อภายในกระดูก โดยเรียกหลักการทำงานหรือเครื่องนี้ว่า “Dual-energy X-ray absorptionmetry” (DEXA หรือ DXA)

แพทย์จะตรวจกระดูกที่มีโอกาสหักได้ง่ายจากโรคกระดูกพรุนใน 3 ตำแหน่ง ได้แก่ กระดูกสะโพก (Hip), กระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar spine) และกระดูกแขนส่วนปลาย (Forearm) โดยเฉพาะกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลังส่วนเอวที่นิยมตรวจกันมากที่สุด

การแปลผลตรวจ

จะมีหน่วยวัดความหนาแน่นของกระดูก 2 แบบ คือ T-Score และ Z-Score ค่า T-Score ซึ่งเป็นหน่วยวัดความหนาแน่นของกระดูกในเชิงเปรียบเทียบกับกระดูกของผู้อื่นที่อยู่ในวัย 30 ปี ที่ถือว่าเป็นวัยที่กระดูกกำลังมีความหนาแน่นสูงที่สุดเป็นมาตรฐาน ดังนี้

  • ค่า T-Score มากกว่า -1 ขึ้นไป = กระดูกหนาแน่นปกติ (Normal bone)
  • ค่า T-Score อยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 = โรคมวลกระดูกน้อยหรือกระดูกบาง (Osteopenia)
  • ค่า T-Score ต่ำกว่า -2.5 = โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

Z-Score เป็นหน่วยวัดระดับความหนาแน่นของกระดูกในเชิงเปรียบเทียบกับกระดูกของผู้อื่นที่อยู่ในกลุ่มเชื้อชาติเดียวกัน เพศเดียวกัน และในวัยเดียวกัน ค่าที่ได้อาจต่ำกว่าหรือสูงกว่าผู้ที่อยู่ในวัยเดียวกันก็ได้ ด้วยเหตุนี้ Z-Score เพียงค่าเดียว จึงไม่อาจบ่งชี้ได้ว่าในระหว่าง 2 คนนั้น ผู้ใดเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วหรือไม่อย่างไร จึงแตกต่างจากค่า T-Score ที่อาจใช้บ่งชี้ได้ชัดเจน (แม้ค่า T-Score จะดูมีประโยชน์มากกว่า แต่ค่า Z-Score ก็ยังนับว่ามีประโยชน์ในแง่ของการเฝ้าระวังโรคกระดูก หรือช่วยบ่งชี้สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคกระดูกบางโรคที่มีมวลลดน้อยลงไปได้)

ข้อคำนึง

  1. ไม่ตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกบ่อยเกินปีละ 1 ครั้ง เพราะความแตกต่างน้อยเกินไป ไม่สามารถแปลผลได้
  2. กรณีต้องการตรวจซ้ำเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นมวลกระดูก ควรตรวจด้วยเครื่องตรวจเดิม เนื่องจากเครื่องตรวจแต่ละเครื่องอาจใช้เทคโนโลยีในการวัดที่แตกต่างกัน มีค่าอ้างอิง (reference) แตกต่างกัน มีความแปรปรวนในการวัดที่ต่างกัน ทำให้ผลตรวจไม่สามารถใช้เปรียบเทียบกันได้

เมื่อไหร่ ควรตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก

  • ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีค่าดัชนีมวลกายน้อยกว่า 19
  • ผู้ชายอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ที่มีภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย 
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคตับเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรครูมาตอยด์ ภาวะการดูดซึมของระบบทางเดินอาหารผิดปกติ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคต่อมไทรอยด์ และโรคต่อมพาราไทรอยด์
  • มีประวัติเคยมีกระดูกสะโพกหัก หรือกระดูกหักที่ตำแหน่งอื่น ๆ จากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง 
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ผู้ที่ได้รับยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยารักษาโรคไทรอยด์ ยารักษามะเร็ง ฯลฯ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
enel calcium l-threonate

References (เอกสารอ้างอิง)

  1. แนวทางเวชปฏิบัติเรื่องโรคกระดูกพรุน สำนักพัฒนาวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
  2. หาหมอดอทคอม. “ความหนาแน่นมวลกระดูก (BONE MINERAL DENSITY)”. (นพ.สามารถ ราชดารา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [29 ก.ย. 2022].
  3. เมดไทย (Medthai) . “การตรวจความหนาแน่นกระดูก” . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : medthai.com. [29 ก.ย. 2022].

เรียบเรียงข้อมูล โดย ภญ.มหิดล นวพร สุขเดโชสว่าง (เภสัชกรมดน้อย)

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

error: Content is protected !!