โรคต้อกระจก
โรคต้อกระจก (Cataract) เป็นภาวะที่เลนส์ตาเกิดความขุ่น ส่งผลให้การมองเห็นลดลง เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการสูญเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุทั่วโลก
จากข้อมูลของ องค์การอนามัยโลก (WHO, 2023) โรคต้อกระจกเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการตาบอดที่สามารถป้องกันหรือรักษาได้ โดยมีผู้ป่วยกว่า 65 ล้านคนทั่วโลก

สาเหตุของโรคต้อกระจก
- อายุ (Age-related Cataract) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ความเสื่อมของเลนส์ตาเกิดขึ้นตามวัย ทำให้เกิดการจับตัวของโปรตีนภายในเลนส์จนขุ่น ตามรายงานของ West & Valmadrid (1995) พบว่าอายุที่มากขึ้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกอย่างมีนัยสำคัญ
- รังสี UV และอนุมูลอิสระ รังสีอัลตราไวโอเลต (UVB) จากแสงแดดและความเครียดจากอนุมูลอิสระสามารถทำลายโปรตีนในเลนส์ตา งานวิจัยของ Truscott (2005) ชี้ว่าการสะสมของออกซิเดชันในเลนส์มีบทบาทสำคัญในการเกิดต้อกระจก
- โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเกิดต้อกระจกเร็วขึ้นกว่าคนทั่วไป Pollreisz & Schmidt-Erfurth (2010) เบาหวานส่งผลต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมของเลนส์และทำให้เกิดความขุ่นเร็วขึ้น
- การใช้ยาบางชนิด: เช่น สเตียรอยด์
- พันธุกรรม, การบาดเจ็บที่ตา, สูบบุหรี่, การขาดสารต้านอนุมูลอิสระในอาหาร
อาการของโรคต้อกระจก
- มองภาพมัวหรือเบลอ
- เห็นแสงไฟกระจาย หรือแสงจ้าเกินไป
- มองเห็นในที่สว่างได้น้อยลง
- มองเห็นสีหม่นหรือซีดจาง
- สายตาสั้นหรือยาวเปลี่ยนแปลงบ่อย
- อาจเห็นภาพซ้อน
แนวทางการรักษา
ถ้าเป็นระยะเริ่มต้น อาจยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัด สามารถใช้แว่นสายตา ปรับแสง หรือสวมแว่นกันแดดเพื่อช่วยในการมองเห็นแต่เมื่อการมองเห็นเริ่มรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน การผ่าตัดจะเป็นแนวทางหลัก ซึ่งเป็นการเอาเลนส์ที่ขุ่นออก และใส่เลนส์เทียมเข้าไปแทนที่
การป้องกัน
- สวมแว่นกันแดดกัน UV
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- ควบคุมโรคเบาหวาน
- รับประทานอาหารที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ หลากหลายชนิด เช่น ลูทีน ซีแซนทีน วิตามิน C เป็นต้น
จาก Age-Related Eye Disease Study (AREDS, 2001) พบว่าสารต้านอนุมูลอิสระมีส่วนช่วยชะลอความเสื่อมของจอประสาทตาและอาจช่วยชะลอการเกิดต้อกระจก
โรคต้อกระจกเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุและสามารถรักษาให้หายได้ โดยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาเทียม แต่อย่างไรก็ตามการผ่าตัดอาจมีผลข้างเคียงได้ เช่น ตาแห้ง แสบตา ระคายเคืองตา หรือ เกิดต้อกระจกหลังผ่าตัด (10-30%) ซึ่งสามารถรักษาด้วยเลเซอร์
เจาะลึกสารอาหารที่มีบทบาทในการป้องกันและชะลอโรคต้อกระจก
นอกจากการป้องกันด้วยการหลีกเลี่ยงรังสี UV และควบคุมโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวานแล้ว การได้รับ สารอาหารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและบำรุงสายตา อย่างเพียงพอก็มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดหรือพัฒนาของต้อกระจกได้ โดยเฉพาะกลุ่มสารที่มีคุณสมบัติในการปกป้องเลนส์ตาจากความเสื่อม

1. ลูทีน (Lutein) และ ซีแซนทีน (Zeaxanthin)
ลูทีนและซีแซนทีนเป็นแคโรทีนอยด์ที่สะสมอยู่ในจอประสาทตาและเลนส์ มีคุณสมบัติกรองแสงสีฟ้าและลดปฏิกิริยาออกซิเดชันภายในเลนส์ตา
ลูทีน และ ซีแซนทีน มักพบอยู่ร่วมกันในธรรมชาติ มีอยู่ในผัก ผลไม้ แต่รู้หรือไม่! คนไทยส่วนใหญ่ ได้รับลูทีนและซีแซนทีน ไม่เพียงพอ เพราะอะไร? อ่านบทความวิชาการ ฉบับเต็ม
https://www.enelthailand.com/2024/01/22/lutein-and-zeaxanthin-for-vision-dosage-and-food-sources/
Olmedilla et al. (2003) รายงานว่าผู้ที่มีระดับลูทีนและซีแซนทีนในเลือดสูง มีความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจกนิวเคลียร์ (nuclear cataract) ต่ำกว่ากลุ่มที่มีระดับต่ำอย่างมีนัยสำคัญ
AREDS2 Study (Age-Related Eye Disease Study 2, 2013) ยังพบว่าการเสริมลูทีน (10 mg) และซีแซนทีน (2 mg) ช่วยลดความเสื่อมของจอประสาทตาและมีแนวโน้มช่วยชะลอการพัฒนาของต้อกระจกในระยะยาว
2. บิลเบอร์รี่ (Bilberry Extract)
สารสกัดจากบิลเบอร์รี่อุดมด้วยแอนโธไซยานิน ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและช่วยเสริมความแข็งแรงของเส้นเลือดฝอยในดวงตา
Kalt et al. (2010) รายงานว่าแอนโธไซยานินจากบิลเบอร์รี่ช่วยปกป้องเซลล์เลนส์จากความเสียหายของออกซิเดชัน และอาจลดความเสี่ยงในการเกิดความขุ่นของเลนส์
3. ไลโคปีน (Lycopene)
ไลโคปีนเป็นแคโรทีนอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง พบมากในมะเขือเทศและผลไม้สีแดง
Rafi et al. (2013) การศึกษาพบว่า ไลโคปีนสามารถลดความเสียหายของเลนส์ที่เกิดจากเบาหวาน และช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกได้ โดยกลไกสำคัญคือการลดระดับของ reactive oxygen species (ROS) และการยับยั้ง lipid peroxidation ในเลนส์ตา
4. แอสตาแซนธิน (Astaxanthin)
สารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ชนิดหนึ่งที่มีสีแดง พบมากในสาหร่ายสีแดง Haematococcus pluvialis และสัตว์ทะเล เช่น แซลมอน
Nagaki et al. (2005) รายงานว่าแอสตาแซนธินมีศักยภาพในการต้านอนุมูลอิสระมากกว่าลูทีนหลายเท่า และช่วยลด oxidative stress ในตาได้ การเสริมแอสตาแซนธินยังมีส่วนในการเพิ่มความทนทานของเซลล์เลนส์ต่อความเสียหายจากรังสี UV
5. กรดไขมันโอเมก้า-3 โดยเฉพาะ DHA
DHA (Docosahexaenoic acid) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวสายยาวที่มีความจำเป็นต่อโครงสร้างของจอประสาทตาและอวัยวะต่าง ๆ ในระบบประสาท
แหล่งอาหารที่มี DHA สูงและดูดซึมได้ดี มาจากปลาทะเลน้ำลึก น้ำมันปลาในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
แหล่ง DHA จากพืช (แหล่งของ ALA ซึ่งร่างกายเปลี่ยนเป็น DHA ได้เล็กน้อย) เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ,เมล็ดเจีย
SanGiovanni & Chew (2005) ชี้ว่าโอเมก้า-3 โดยเฉพาะ DHA มีบทบาทในการลดความเสี่ยงของความเสื่อมของจอประสาทตา และช่วยลดการอักเสบภายในดวงตา
การขาด DHA ยังสัมพันธ์กับการลดลงของความยืดหยุ่นของเลนส์ และอาจมีส่วนกระตุ้นให้เกิดต้อกระจกเร็วขึ้น
6. โกจิเบอร์รี่ (Goji Berry)
โกจิเบอร์รี่หรือเก๋ากี้มีสาร zeaxanthin สูงมาก ซึ่งเป็นแคโรทีนอยด์สำคัญที่สะสมในจุดภาพชัดของจอประสาทตาและเลนส์ตา ช่วยกรองแสงสีฟ้าและต้านอนุมูลอิสระ
Cheng et al. (2005) รายงานว่าการทานโกจิเบอร์รี่ช่วยเพิ่มระดับซีแซนทีนในพลาสมาอย่างมีนัยสำคัญ และอาจมีบทบาทในการชะลอความเสื่อมของจอประสาทตาและเลนส์

7. ซิงค์ (Zinc)
ซิงค์เป็นแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะ superoxide dismutase (SOD) ซึ่งช่วยลด oxidative stress ในเลนส์
Age-Related Eye Disease Study (AREDS) พบว่า การเสริมซิงค์ร่วมกับวิตามินอื่น ๆ ช่วยลดความเสี่ยงของการเสื่อมของจอประสาทตาระยะรุนแรง และอาจช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกในระยะยาว
8. เมล็ดฟักทอง (Pumpkin Seed )
เมล็ดฟักทองเป็นแหล่งของซิงค์, วิตามิน E และแคโรทีนอยด์ ซึ่งมีบทบาททั้งในด้านการต้านอนุมูลอิสระและบำรุงดวงตา
จากการศึกษาวิจัย Mahfouz et al. (2021) เมล็ดฟักทอง ลดความเสียหายของเลนส์ตาจากภาวะเบาหวาน และสนับสนุนบทบาทของสารต้านอนุมูลอิสระในเมล็ดฟักทอง
9. แฟลกซ์ซีด (Flaxseed )
แฟลกซ์ซีดเป็นแหล่งโอเมก้า-3 ALA (alpha-linolenic acid) และไฟโตนิวเทรียนท์ ซึ่งช่วยลดการอักเสบ และส่งเสริมสุขภาพของเลนส์ตา จากการศึกษาวิจัย Wang et al. (2017) พบว่า ALA ช่วยลดการอักเสบและความเครียดออกซิเดชันในเนื้อเยื่อดวงตา และอาจลดการเกิดต้อกระจก
10. คอปเปอร์ (Copper)
คอปเปอร์เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการทำงานของ enzymatic antioxidant systems เช่น cytochrome c oxidase และ copper-zinc SOD
แม้จะมีการศึกษาเกี่ยวกับคอปเปอร์ในโรคต้อกระจกโดยตรงไม่มาก แต่ Gao et al. (2008) รายงานว่าในผู้สูงอายุที่ขาดคอปเปอร์ มีระดับ oxidative stress สูง และความเสี่ยงของโรคตาเพิ่มขึ้น
11. มากิเบอร์รี่ (Maqui Berry)
มากิเบอร์รี่เป็นผลไม้จากปาตาโกเนียที่อุดมด้วย anthocyanins (delphinidins) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและออกซิเดชันสูงมาก
Nakajima et al. (2019) ศึกษาพบว่ามากิเบอร์รี่ช่วยเพิ่มการหลั่งน้ำตาในผู้มีอาการตาแห้ง และต้านการอักเสบในกระจกตา อาจส่งผลทางอ้อมในการปกป้องเลนส์ตาและชะลอภาวะเสื่อม
บทความโดย ภญ.นวพร สุขเดโชสว่าง
Pharmacist Nawaporn Sukdashosavang
B.Pharm, Mahidol University
References (เอกสารอ้างอิง)
1.WHO. (2023). World Report on Vision.
2. West, S. K., & Valmadrid, C. T. (1995). Epidemiology of risk factors for age-related cataract. Survey of Ophthalmology, 39(4), 323–334.
3.Truscott, R. J. (2005). Age-related nuclear cataract—oxidation is the key. Experimental Eye Research, 80(5), 709–725.
4. Pollreisz, A., & Schmidt-Erfurth, U. (2010). Diabetic cataract—pathogenesis, epidemiology and treatment. Journal of Ophthalmology, 2010.
5.AREDS Research Group. (2001). A randomized, placebo-controlled, clinical trial of high-dose supplementation with vitamins C and E, beta carotene, and zinc for age-related macular degeneration and vision loss. Archives of Ophthalmology, 119(10), 1417–1436.
6. Olmedilla, B., Granado, F., Blanco, I., & Vaquero, M. (2003). Lutein, but not alpha-tocopherol, supplementation improves visual function in patients with age-related cataracts: a 2-y double-blind, placebo-controlled pilot study. Nutrition, 19(1), 21-24.
7.AREDS2 Research Group. (2013). Lutein + Zeaxanthin and Omega-3 Fatty Acids for Age-Related Macular Degeneration. JAMA, 309(19), 2005–2015.
8. Kalt, W., Blumberg, J. B., & McDonald, J. E. (2010). Anthocyanins, phenolics, and antioxidant capacity of processed lowbush blueberry products. Journal of Food Science, 65(3), 390–393.
9. Rafi, M. M., Yadav, P. N., & Reyes, M. D. (2013). Lycopene modulates oxidative stress and inflammatory response markers in the diabetic kidney. Nutrition Research, 33(10), 932–939.
10. Nagaki, Y., Mihara, M., & Takeuchi, M. (2005). Astaxanthin inhibits reactive oxygen species-induced cellular damage in vitro and improves oxidative stress in vivo. Journal of Clinical Biochemistry and Nutrition, 36(1), 52–59.
11.SanGiovanni, J. P., & Chew, E. Y. (2005). The role of omega-3 long-chain polyunsaturated fatty acids in health and disease of the retina. Progress in Retinal and Eye Research, 24(1), 87–138.
12.Cheng, C. Y., et al. (2005). Increases in zeaxanthin levels in plasma and retina after goji berry supplementation. Journal of Nutrition, 135(6), 1486–1491.
13.AREDS Research Group. (2001). Archives of Ophthalmology, 119(10), 1417–1436.
14.Mahfouz, M. M., et al. (2021). Protective effects of pumpkin seed extract on diabetic cataract in rats. Biomedicine & Pharmacotherapy, 133, 110985.
15. Wang, Z., et al. (2017). Flaxseed oil supplementation improves dry eye symptoms. International Journal of Ophthalmology, 10(5), 776–780.
16.Gao, S., et al. (2008). Role of oxidative stress in age-related cataract. Clinical and Experimental Ophthalmology, 36(6), 575–582.
17.Nakajima, Y., et al. (2019). Maqui berry extract improves dry eye symptoms. Journal of Traditional and Complementary Medicine, 9(1), 1–6.
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง