น้ำตาเทียม จัดอยู่ในหมวดยาแผนปัจจุบัน ที่ใช้ภายนอก ใช้เพื่อช่วยหล่อลื่นลูกตา และบรรเทาอาการตาแห้ง ระคายเคืองตา แม้ว่า ส่วนประกอบต่าง ๆ ของน้ำตาเทียม จะทำให้น้ำตาเทียม มีคุณสมบัติเหมือนน้ำตาธรรมชาติ แต่เรื่องที่ผู้ใช้ควรคำนึงถึง ก็คือ สารกันเสียในน้ำตาเทียม (preservative)
สามารถแบ่งประเภทของน้ำตาเทียม ตามชนิดของสารกันเสีย (Preservative) ได้ 3 ประเภท ดังนี้
1. Chemical preservative ที่นิยมใช้ คือ benzalkonium chloride (BAK) เพราะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ไม่ควรใช้เกิน 4 ครั้ง/วัน
ข้อเสีย
- ทำลายเซลล์ผิวกระจกตา(Corneal epithelium)
- disrupt tear film ทำให้ฟิล์มน้ำตาแตกตัวทันทีที่ใช้ จึงรักษาตาแห้งได้ไม่ดีเท่าที่ควร
- เกิดอาการแพ้ แสบตา ระคายเคืองตาได้
- ในระยะยาวเพิ่มความเสี่ยงการเกิดต้อหิน
ปัจจุบัน จึงมีการใช้สารกันเสีย ที่เป็น mild preservative เพื่อลดผลข้างเคียง
2. Mild preservative ที่นิยมใช้ คือ
- Polyquaterium-1 (Polyquad®)
ป้องกันเชื้อแบคทีเรียและยีสต์ เป็นพิษต่อกระจกตาน้อยกว่า BAK เพราะมีน้ำหนักโมเลกุลใหญ่ จึงเข้าสู่เยื่อบุกระจกตา (ocular surface) ยาก
- Stabilized oxychlorocomplex (Purite®)
ป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และยีสต์ เมื่อสารกันเสียชนิดนี้ได้รับแสง จะแตกตัวเป็น chloride free radial ยับยั้งการสร้างโปรตีนของเชื้อ
- Sodium perborate ป้องกันเชื้อแบคทีเรียและยีสต์ สารกันเสียนี้จะสลายเป็น
Hydrogen peroxide free radical มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ
ข้อเสีย
ประสิทธิภาพครอบคลุมเชื้อน้อยกว่า Chemical preservative และราคาสูงกว่าแบบ Chemical preservative
3. ไม่มีสารกันเสีย (Preservative free)
ข้อเสีย
- บรรจุภัณฑ์ปลายแหลม เด็กและผู้สูงอายุใช้ไม่สะดวก
- ราคาสูงกว่าทุกแบบ
- ปนเปื้อนเชื้อโรคได้ง่าย เพราะไม่มีสารกันเสีย
- บางคนใช้ผิดวิธี เผลอเอาปลายหลอดสัมผัสกับสิ่งอื่น ทำให้ปนเปื้อนเชื้อได้ง่าย
- มีอายุเพียง 24 ชั่วโมง หลังเปิดใช้แล้ว
น้ำตาเทียม กับ ยาหยอดตา ❌ไม่เหมือนกัน ใช้แทนกันไม่ได้❌
น้ำตาเทียม มีคุณสมบัติคล้ายกับน้ำตาตามธรรมชาติ
ส่วน ยาหยอดตา มีตัวยา รักษาอาการของโรคที่เกี่ยวกับดวงตา เช่น ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียของดวงตา
คำแนะนำอื่นๆ
- ล้างมือให้สะอาดก่อนใช้ทุกครั้ง
- ไม่ควรใช้ร่วมกับผู้อื่น
- เก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องและเก็บในที่แห้ง
- ระมัดระวังไม่ให้ปลายหลอดสัมผัสกับดวงตาหรือส่วนใดๆ ขณะหยอด
- สำหรับผู้ใส่คอนแทคเลนส์
ถ้าจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย ควรถอดคอนแทคเลนส์ออก ก่อนหยอดน้ำตาเทียม และใส่คอนแทคเลนส์หลังจากหยอดตาเสร็จแล้วประมาณ 10 นาที เพื่อป้องกันไม่ให้คอนแทคเลนส์ดูดซับสารกันเสีย ซึ่งจะไปทำลายเซลล์เยื่อบุกระจกตาได้
- อาจรู้สึกขมในคอหลังใช้ ซึ่งการใช้นิ้วมือกดหัวตาเบา ๆ จะช่วยลดการเกิดอาการขมคอได้
- น้ำตาเทียมแบบรายเดือน (multiple-dose)มีอายุ 30 วัน หลังเปิดใช้
- น้ำตาเทียมแบบรายวัน (single-dose) กระเปาะเล็ก มีอายุ 24 ชั่วโมง หลังเปิดใช้
- ควรทิ้งน้ำตาเทียมที่หมดอายุ แม้ยังคงมีน้ำตาเทียมเหลืออยู่ในขวด
- หากเกิดอาการแพ้หรืออาการผิดปกติบางอย่าง เช่น ระคายเคืองตาผิดปกติ, ตามัวจนมองเห็นผิดปกติแม้หยอดน้ำตาเทียมไปสักพักแล้ว, แสบตา, ปวดตา ต้องหยุดใช้ทันที หากหยุดใช้แล้วยังคงมีอาการให้รีบไปพบแพทย์
- น้ำตาเทียม ใช้เพื่อบรรเทาอาการ ไม่สามารถรักษา หรือแก้ไขสาเหตุของอาการตาแห้งได้
- สารอาหารที่ช่วยลดอาการตาแห้ง คือ กรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีDHA สูง, ลูทีนและซีแซนทีน, สังกะสี, วิตามินซี, วิตามินเอ,วิตามินอี
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ และลดการใช้สายตา ช่วยลดอาการตาแห้ง
————————————–
References (เอกสารอ้างอิง)
1. ธวิวรรน์ สวัสดิโสภานนท์. การใช้สารกันเสียในยาหยอดตา. GPO R&D newsletter 2555;19(2):16-8.
2. ภญ.นิตย์ธิดา ภัทรธีรกุล. การดูแลภาวะตาแห้ง.บทความวิชาการ ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ 27 เม.ย.2560
3. Freeman PD, Kahook MY. Preservative in topical ophthalmic medication: Historical and clinical perspectives. Expert Rev Ophthalmol. 2009;4(1):59-64
4.สภาเภสัชกรรม. คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (สมรรถนะร่วม) พ.ศ. 2562. Available at: https://www.pharmacycouncil.org/index.php?option=content_detail&menuid=0&itemid=1433&catid=1
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง