การป้องกันภาวะกระดูกพรุน
การป้องกันภาวะกระดูกพรุน ควรประกอบด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ การได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสม ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
และควรงดหรือลดการรับประทานอาหารบางชนิดให้น้อยลง ดังนี้
- ระวังไม่กินอาหารประเภทโปรตีนหรือเนื้อสัตว์มากเกินไป เพราะการกินโปรตีนมากเกินไปจะกระตุ้นให้ไตขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากผิดปกติ
- ในคนทั่วไปต้องการโปรตีน 0.8-1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
- ในคนที่ต้องการสร้างกล้ามเนื้อต้องการโปรตีน 2-3 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
- ระวังไม่กินอาหารเค็มจัดหรือมีโซเดียมมาก เพราะเกลือโซเดียมที่มากเกินจะทำให้การดูดซึมของแคลเซียมจากลำไส้ลดลง ร่างกายจึงไม่สามารถนำแคลเซียมมาใช้ได้ และยังทำให้การสูญเสียแคลเซียมทางไตมากขึ้นด้วย (ควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเกลือไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา หรือเทียบกับน้ำปลาไม่เกินวันละ 4 ช้อนชา)
- ไม่ควรดื่มน้ำอัดลมในปริมาณมาก เพราะในน้ำอัดลมมีส่วนผสมที่ชื่อ “กรดฟอสฟอริก” ที่ทำให้เกิดฟองฟู่ การดื่มน้ำอัดลมมากทำให้ความสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัสเสียไป (มีฟอสฟอรัสมากขึ้น) ร่างกายจึงจำเป็นต้องสลายแคลเซียมออกจากคลังกระดูก เพื่อป้องกันไม่ให้ฟอสฟอรัสในเลือดสูงเกินไปจนส่งผลอันตรายต่อชีวิต
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม จำพวกเหล้า เบียร์ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต แอลกอฮอล์หรือกาเฟอีนในเครื่องดื่มเหล่านี้จะไปขัดขวางการดูดซึมของแคลเซียม ทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมามากขึ้น
(ดื่มกาแฟไม่เกินวันละ 3 ถ้วย หรือคาเฟอีนไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม ) - หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ แคลเซียมมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมดุลระหว่างค่าความเป็นกรด-ด่างของเลือด การสูบบุหรี่ทำให้ร่างกายมีภาวะเป็นกรด แคลเซียมจะเข้ามามีบทบาทในการสะเทินฤทธิ์กรดจากบุหรี่
ดังนั้น บุหรี่ทุกๆ มวนจึงเป็นตัวที่ทำให้แคลเซียมละลายจากกระดูก นอกจากนี้ บุหรี่ยังทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงต่ำกว่าปกติด้วย จึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุน - ระวังการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยาที่มีสารสตียรอยด์ ยาลดกรดที่มีอะลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบ ยาเหล่านี้เร่งการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย ดังนั้น หากจำเป็นต้องกินเป็นเวลานานควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
SWU Clinic Faculty Of Medicine
คลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
เรียบเรียงบทความโดย ภก.วรเดช สุขเดโชสว่าง
References (เอกสารอ้างอิง)
- SWU Clinic Faculty Of Medicine คลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- กรมอนามัย